โรค MG คือ อะไร ?
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า MG คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันบริเวณรอยต่อระหว่างปลายประสาทและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้การนำสารสื่อประสาทลดลงและเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
โดยปกติแล้ว สารสื่อประสาทที่ออกจากปลายประสาท จะถูกส่งต่อไปยังเซลล์ Receptor ของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการหดตัวคลายตัว แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรค MG ภูมิคุ้มกันร่างกายที่ผิดปกติจะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งมายับยั้งสารสื่อประสาทไม่ให้ถูกส่งไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อไม่ตอบสนอง อ่อนแรงลง จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของโรคนี้ คือ กล้ามเนื้อเกิดอาการล้า อ่อนแรงแบบไม่สม่ำเสมอ ระดับความรุนแรงของโรคไม่คงที่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระหว่างวัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งกล้ามเนื้อแขนขา ปาก ใบหน้า ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อตาอีกด้วย ทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงลง ตาปรือ หนังตาตก การกลอกตาผิดปกติ มองเห็นภาพซ้อนได้ ในกรณีที่มีระดับความรุนแรงมาก อาจพบอาการอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อหายใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงปกติ ต่างจากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง MG อย่างไร ?
ทั้งสองภาวะนี้มีความเหมือนกัน คือ มีกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง อาการตาปรือ หนังตาตก เหมือนกัน โดยภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงปกตินั้นเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการยกเปลือกตาทำงานได้น้อยลงหรืออ่อนแรงลง ทำให้รู้สึกลืมตาได้ยาก ตาปรือ ตาง่วงนอน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากกรรมพันธุ์ จากอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดหนังตาตกตามวัย หรือจากพฤติกรรม เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน การขยี้ตาอย่างรุนแรง หรือการติดสติ๊กเกอร์ตาสองชั้นบ่อย ๆ เป็นต้น
ในขณะที่ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากโรค MG นั้น เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยจุดที่แตกต่างจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแบบปกติ คือ อาการตาปรือ กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากโรค MG นั้น จะมีอาการแบบไม่สม่ำเสมอ เป็น ๆ หายๆ ระดับความรุนแรงหรือการปรือไม่คงที่ในระหว่างวัน ในบางราย ช่วงเช้าอาจมีอาการปกติ จะมีอาการตาปรือที่หนักขึ้นในช่วงบ่าย โดยที่อาการในแต่ละข้างนั้นอาจไม่เท่ากันก็ได้
การรักษาภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง MG
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ว่ากล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากโรค MG นั้น มีอาการของโรคที่แตกต่างจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงปกติ ทำให้แนวทางการรักษานั้นแตกต่างกันออกไป
ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดตาสองชั้น ร่วมกับปรับกล้ามเนื้อตา เพื่อแก้ไขและปรับระดับการยกของเปลือกตาให้สามารถลืมตาได้มากขึ้น แต่เนื่องจากกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากโรค MG นั้นมีอาการของโรคที่ไม่คงที่ ทำให้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดตาสองชั้น แต่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษา สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ ยาที่ช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท กลุ่มยาสเตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน หากคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากโรค MG ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อให้อาการของโรคนั้นดีขึ้น
สรุปจากที่กล่าวไปข้างต้น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่เกิดจากโรค MG นั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดตาสองชั้น เนื่องจากเมื่ออาการของโรค MG ดีขึ้น อาจทำให้เปลือกตาถูกยกรั้งขึ้นผิดปกติได้ ดังนั้น หากคนไข้มีความต้องการที่จะผ่าตัดตาสองชั้น จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาภาวะของโรค MG ให้อยู่ในระดับคงที่ก่อน จึงจะสามารถผ่าตัดตาสองชั้นได้